วันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2553

คำพิพากษาฎีกาน่าสนใจมาตรา ๒(๔),๕

คำพิพากษาฎีกาน่าสนใจมาตรา ๒(๔),๕
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๖๓๗/๒๕๔๘ แม้โจทก์เป็นพนักงานสอบสวนที่มีความเห็น สั่งฟ้องจำเลยในคดีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยเพราะพยานหลักฐานไม่เพียงพอ แต่ข้อหาตามที่โจทก์ฟ้องในความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ มาตรา ๑๕,๖๖ เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน รัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหาย แม้โจทก์จะเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ แต่ก็มีอำนาจหน้าที่เพียงเท่าที่กฎหมายกำหนดให้กระทำ คือ มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิหจารณาความอาญา มาตรา ๒(๖) เท่านั้น และโจทก์มิใช่บุคคลผู้ได้รับคสามเสียหายจากการกระทำความผิดตามฟ้อง โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายตามป.วิ.อ. มาตรา ๒(๔) ไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๑๑๗/๒๕๔๘ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพหนักงานอัยการโดยมิได้ระบุว่า อนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานใดต้องถือว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ เฉพาะความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและฐานลักทรัพย์ซึ่งโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายเท่านั้น ส่วนความผิดเกี่ยวกับการทำลายพยานหลักฐานไหม่ใช่ความผิดต่อสาธารณชน แต่เป็นความผิด เกี่ยวกับรัฐโดยตรง แม้จำเลยจะย้ายศพ จ. ผู้ตาย เพื่อปิดบังเหตุแห่งการตายก็ตาม โจทก์ร่วมซึ่งเป็น บิดาผู้ตายก็ไม่ได้เป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากกระหทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒(๔) จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย พนักงานอัยการโจทก์มิได้อุทธรณ์ ข้อหาทำลายพยานหลักฐานจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ร่วมไม่มีอำนาจอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยสถานหนักในข้อหาทำลายพยานหลักฐาน การที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑  รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมในข้อหาดังกล่าวแล้วพิพากษายืน จึงเป็นการมิชอบ ปัญหาดังกล่าว เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๕ วรรคสองประกอบด้วยมาตรา ๒๒๕
ศาลอุทธรณ์ภาคหนึ่งพิพากษายืนตามศาลล่างให้จำคุกจำเลยเกินห้าปี โจทก์จึงต้องห้ามฎีกา ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๑๘ วรรคสอง ข้อห้ามฎีกาดังกล่าวนี้ย่อมใช้บังคับโจทก์ร่วมด้วย เพราะ ป.วิ.อ. มาตรา ๒(๑๔) ได้นิยามศัพท์คำว่า “โจทก์” ไว้ว่า หมายดความถึงพนักงานอัยการ หรือผู้เสียหายซึ่งฟ้องคดีอาญาต่อศาล หรือทั้งคู่ในเมื่อพนักงานอัยการและผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมกัน
คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๑๗๙/๒๕๔๗ จำเลยที่ ๓ แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อ พนักงานสอบสวนว่าจำเลยที่ ๓ ได้ขับรถจักรยานยนต์เฉี่ยวจำเลยที่ ๔ ได้รับบาดเจ็บ เพื่อประสงค์ให้พนักงานสอบสวน จดข้อความอันเป็นเท็จลงในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ซึ่งเป็นเอกสารราชการเพื่อใช้เป็น พยานหลักฐานเท่านั้นอันเป็นการกระทำต่อเจ้าพนักงานโดยตรง โดยที่จำเลยที่ ๓ มิได้เจาะจง ว่ากล่าวถึงโจทก์เลย โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายโดยตรง แม้ข้อความเท็จนั้นจะครบ องค์ประกอบเป็นความผิดตามมาตรา ๑๓๗ และมาตรา ๒๖๗ แต่ข้อความเท็จที่จำเลยแจ้ง มิได้มีการกล่าวอ้างถึงการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด ที่กระทบกระเทือนถึงโจทก์ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย
การที่จำเลยที่ ๓ นำหลักฐานการแจ้งความเท็จต่อพนักงานตำรวจไปเป็น หลักฐานยื่นคำร้องขอรับชำระค่าเสียหาย จากโจทก์ในฐานะผู้รับประกันนภัยรถจักรยานยนต์ของ จำเลยที่ ๓ อันเป็นการกระทำที่จะเกิด ความเสียหายแก่โจทก์ แต่โจทก์ยังไม่ได้จ่ายค่าเสียหาย ให้แก่จำเลยที่ ๓ เพราะโจทก์ทราบมาก่อน ฟ้องแล้วว่าจำเลยที่ ๓ แจ้งความเท็จ ทั้งการกระทำของ จำเลยที่ ๓ ในส่วนหลังเกิดขึ้นหดลังจากการกระทำความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตำรวจ และเจ้าพนักงานตำรวจได้จดข้อความเท็จลงในเอกสารราชการสำเร็จแล้วเป็นการกระทำ อีกส่วนหนึ่งต่างหากจากการกระทำที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่ ดังนั้น จะเอาการกระทำผิดตาม ป.อ. มาตรา ๑๓๗ และมาตรา ๒๖๗ มาเป็นข้อพิจารณาว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายส่วนนี้ไม่ได้ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายสำหรับความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ตาม ป.อ. มาตรา ๑๓๗ และฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลง ในเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา ๒๖๗ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ข้อสังเกตุ  คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในความยผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา ๑๓๗ และฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จ ลงในเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา ๒๖๗ โดยมิได้ฟ้องความผิดฐานใช้ ตาม ป.อ. มาตรา ๒๖๘ มาด้วย ซึ่งศาลฎีกาก็วินิจฉันว่าการที่จำเลยยที่ ๓ ใช้หลักฐานการแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ไปเป็นหลักฐานยื่นคำร้องขอรับค่าเสียหายจากโจทก์ ไม่อาจนำมาพิจารณาความเป็นผู้เสียหาย ในความผิดฐานแจ้งได้
                ข้อเท้จจริงตามาฎีกานี้หากฟ้องความผิดฐานใช้ตามมาตรา ๒๖๘ ด้วย น่าคิดว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายหรือไม่ เพราะโจทก์ยังไม่ได้จ่ายเงินให้แก่จำเลย แม้โจทก์ยังไม่ได้จ่ายเงินตามที่ถูกหลอกโดยใช้เอกสารดังกล่าว ก็อาจเกิดความเสียหายบางประการแก่โจทก์แล้ว ปัญหาว่าจะเป็นความเสียหายโดยตรงหรือไม่ เช่น พนักงานของโจทก์ต้องมาให้บริการจำเลย ต้องเสียกระดาษ เสียหมึกที่เขียนรายงาน เสียค่าโทรศัพท์ติดต่อเพื่อยืนยันว่าจำเลยแจ้งความเท็จหรือไม่ ซึ่งเหล่านี้อาจมองได้หรือไม่ว่าเป็นความเสียหายโดยตรงจากการกระทำผิดของจำเลย หรือจะมองว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกิจการของโจทก์เอง ซึ่งต้องจ่ายเป็นปกติอยู่แล้ว ไม่ใช่ความเสียหายโดยตรง ก็คงต้องรอดูต่อไป
                แม้โจทก์จะไม่ใช่ผู้เสียหายตามที่ศาลฎีกาตัดสินแต่ถ้าโจทก์ไปร้องทุกข์ให้พนักงาน สอบสวนดำเนินคดี ปัญหาว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายหรือไม่ก็คงหมดไป ซึ่งเคยมีคำพิพากษาฎีกาตัดสินลงโทษคดีทำนองนี้มาแล้ว เช่น ล. แจ้งความเท็จว่ารถหาย แล้วนำรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีไปแสดงต่อบริษัท ประกันภัย ผิดมาตรา ๑๗๓,๒๖๗ กรรมเดี่ยวผิดหลายบท ลงโทษตามมาตรา ๑๗๓ บทหนัก(ฎีกาที่ ๕๕๘๔/๒๕๔๓) อย่างไรก็ตามการกระทำของจำเลยในคดีนี้อาจเป็นความผิดฐานฉ้อโกงด้วย
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๕๗๘/๒๕๔๗ โจทก์ร่วมเป็นผู้รับจ้างขนส่งกระเบื้องจากบริษัท ค. ผู้ว่าจ้างไปส่งให้แก่ร้านค้าจึงเป็นผู้ครอบครองดูแลและจะต้องรับผิดชำระค่ากระเบื้องที่สูญหายไป ในระหว่างการขนส่งให้แก่ผู้ว่าจ้างโจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายโดยตรงในการที่กระเบื้องดังกล่าวสูญหายไป (คดีนี้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่าจำเลยรับของโจร)
ข้อสังเกตุ คดีนี้หากนำไปออกข้อสอบสามารถหลอกได้ง่ายเพราะถ้าถามว่า พนักงานอัยการฟ้องคดีฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรแล้วเจ้าของกระเบื้องและผู้รับจ้างขนส่งยื่น คำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลจะมีคำสั่งอย่างไร หลายคนคงตอบว่าเจ้าของทรัพย์เข้าร่วมเป็นโจทก์ได้แต่ผู้รับจ้างเข้าร่วมเป็นโจทก์ไม่ได้
                คำพิพากษาฎีกานี้ตัดสินในปัญหาที่ว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายตามที่จำเลยฎีกาขึ้นมา แต่มีปัญหาที่จำเลยไม่ได้ฎีกาขึ้นมาซึ่งน่าสนใจก็คือคดีนี้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานรับของโจร และขอให้คืนทรัพย์หรือใช้ราคา ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษและให้คืนทรัพย์หรือใช้ราคาด้วย จำเลยมิได้อุทธรณ์ฎีกาในประเด็นการคืนทรัพย์หรือใช้ราคา ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาจึงมิได้วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวว่าจะให้ใช้ราคาให้โจทก์ร่วมได้หรือไม่ คดีนี้โจทก์ร่วมจะมีสิทธิได้คืนทรัพย์หรือชดใช้ราคาเมื่อโจทกด์ร่วมชำระค่ากระเบื้องที่สูญหายไป ในระหว่างขนส่งให้แก่ผู้ว่าจ้างแล้ว ถ้ายังไม่ชำระก็ไม่น่าจะมีสิทธิได้รับคืนทรัพย์หรือใช้ราคา
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๕๘๒/๒๕๔๗  โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยปลอมบัตรเครดิตวีซ่าและนำบัตรเครดิตที่ปลอมนั้นไปใช้หลอกลวงร้านค้า ห. ด้วยการแสดงข้อดความอันเป็นเท็จว่าเป็นผู้มีชื่อถือบัตรดังกล่าว และได้ไปซึ่งกระเป๋าของกลางสองใบ โดยมิได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับโทรศัพพท์เคลื่อนที่และไม่ได้ขอให้ศาลสั่งริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ ดังกล่าวมาในฟ้องศาลย่อมริบไม่ได้ตาม มาตรา ๑๙๒ วรรคหนึ่ง ส่วนกระเป๋าของกลาง เจ้าของมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดจึงริบไม่ได้เช่นกันตาม ป.อ. มาตรา ๓๓ วรรคท้าย
                แม้พนักงานอัยการโจทก์จะมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยคืนเงินแก่ธนาคาร ท. ผู้จ่ายเงินตามใบบันทึกรายการขายที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตปลอมของจำเลยก็ตามแต่เมื่อความ เสียหายที่ธนาคาร ท. ได้รับนั้นเป็นเพียงความเสียหายทางแพ่ง ไม่ใช่ถูกจำเลยกระทำทางอาญา จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒(๔) พนักงานอัยการย่อมไม่มีอำนาจขอให้ศาลสั่งจำเลยคืนเงินที่ธนาคาร ท. จ่ายให้ร้าน ห. ให้แก่ธนาคาร ท. ตามป.วิ.อ.มาตรา ๔๓ ได้ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา ๒๒๕
                แม้ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาจะได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญากำหนดให้การกระทำของจำเลยตามฟ้องเป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา ๒๖๙/๔ วรรคแรก ประกอบมาตรา ๒๖๙/๗ แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยจึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด คือมาตรา ๒๖๕ และ ๒๖๘ มาบังคับแก่จำเลย
ข้อสังเกต คดีนี้ร้านค้าที่จำเลยไปซื้อของเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกง ธนาคารที่จ่ายเงินให้ร้านค้าดังกล่าวไปไม่ใช่ผู้เสียหายเพราะธนาคารมีหน้าที่ต้องจ่างเงินให้แก่ร้านค้าเฉพาะกรณีที่มีการซื้อสินค้าหรือใช้บริการโดยผู้ถือบัตรเครดิตที่ถูกต้องเท่านั้น หากผู้ไม่มีสิทธินำบัตรเครดิตไปใช้ธนาคารก็ไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินให้แก่ร้านค้าซึ่งธรรมเนียมทางธุรกิจอาจจะแตกต่างกับหลักดังกล่าวเพราะธนาคารจะจ่ายเงินให้แก่ร้านค้าทันทีเมื่อร้านค้านำสลิปการใช้บัตรเครดิตมาเบิกเงิน โดยไม่ได้ตรวจดูว่าลายมือชื่อในสลิปถูกต้องหรือไม่ เป็นเรื่องของความสะดวกในทางการค้า หรืออาจจะมีข้อตกลงกันเองว่าถ้าสลิปไม่ถูกต้องร้านค้าต้องคืนเงินแก่ธนาคารซี่งก็เป็นเรื่องการผ่อนผันกันเองทางธุรกิจ แต่เมื่อจะต้องคืนทรัพย์ในคดีอาญาคงต้องคืนให้แก่ผู้มีสิทธิที่แท้จริงตามกฎหมาย ก็คือต้องคืนให้แก่ผู้เสียหายที่ถูกฉ้อโกง แม้ผู้ถูกฉ้อโกงจะได้รับเงินจากธนาคารมาแล้ว ก็ไม่ได้ทำให้ฐานะของผู้เสียหายหมดไปตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๖๒๐/๒๕๔๖ ที่กล่าวมาแล้ว แต่อย่างไรก็ตามร้านค้าที่ถูกฉ้อโกงต้องคืนเงินให้แก่ธนาคารเพราะเป็นการรับเงินไว้จากธนาคารโดยมี่สิทธิ อาจจะเป็นการคืนฐานลาภมิควรได้ หรืออาจจะต้องคืนให้ตามสัญญาก็ได้ซึ่งต้องดูจากข้อเท็จจริงเป็นกรณีไป
คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๒๕๒/๒๕๔๕  จำเลยปลอมลายมือชื่อของ ช. กรรมการผู้จัดการบริษัท น.ใน คำขอจดทะเบียนบริษัทตำกัด แล้วนำคำขอจดทะเบียนนั้นไปยื่นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเพื่อให้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้จัดการบริษัทดังกล่าว โดยถอนชื่อจากผู้ร้อง ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท น. ออกจากตำแหน่ง การกระทำของจำเลยย่อมเกิดผลกระทบโดยตรงต่อสถานะความเป็นผู้แทนนิติบุคคลของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย เฉพาะในความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘ และเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒(๔) มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๐
คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๘๑๗/๒๕๔๕ โจทก์ซึ่งได้รับอันตรายสาหัสฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑,๓๐๐ และ ๓๙๐ พระราชบัญญัติจราจรทางบก มาตรา ๔๓(๔) และ๑๕๗ แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เสียหายอื่นที่เป็นผู้เยาว์ หรือเป็นผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือสามีผู้เสียหายอื่น ซึ่งถึงแก่ความตาย หรือได้รับอันตรายสาหัส หรือได้รับอันตรายแก่กาย โจทก์จึงไม่ใช่ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเหล่านั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๕ (๑) และ(๒) โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑,๓๐๐ และ ๓๙๐ ซึ่งบุคคลอื่นเป็นผู้เสียหาย และโดยที่โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกมาตรา ๔๓ (๔) และ ๑๕๗ เพราะความผิดดังกล่าวเป็นความผิดต่อรัฐ โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดตามมาตรา ๔๓ (๔) และ ๑๕๗ ด้วยศาลชั้นต้นชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑ และ ๓๙๐ และพระราชบัญญัติจราจรทางบก มาตรา ๔๓(๔) และ ๑๕๗

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น