วันเสาร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ผู้เสียหาย ผู้มีอำนาจจัดการแทน

ข้อ ๑. คำถาม  เด็กหญิงแดงอายุ ๑๔ ปี ๑๐ เดือน รักใครชอบพอนายดำ ายดำชวนเด็กหญิงแดงไปที่บ้านนายดำแล้วนายดำขอร่วมประเวณีด้วย เด็กหญิงดำชอบพอนายดำอยู่แล้วจึงยินยอมให้นายดำกระทำชำเรา หลังจากนั้นนายดำไปส่งเด็กหญิงแดงที่บ้าน เมื่อนายดำกลับมาถึงดบ้านก็พบนางสาวขาวอายุ ๒๑ ปี ซึ่งนายดำแอบชอบนางสาวขาวมานาน แต่นางสาวขาวไม่ชอบนายดำเพราะนางสาวขาวมีแฟนอยู่แล้ว นายดำจึงข่มขืนกระทำชำเรานางสาวขาวหลังเกิดเหตุนางสาวขาวไปพบแพทย์ทันทีเพื่อให้เก็บคราบอสุจิไว้ตรวจพิสูจน์ความผิดของนายดำ นางสาวขาวเสียใจที่ถูกข่มขืนจึงล้มป่วยโดยยังสามารถพูดจาได้ แต่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ในวันสุดท้ายที่จะร้องทุกข์ได้ นางสาวขาวมอบอำนาจด้วยวาจาให้นางเหลืองมารดาของนางสาวขาวไปแจ้งความดำเนินคดีกับ นายดำข้อหาข่มขืนกระทำชำเรา ตอนแรกพนักงานสอบสวนจะไม่รับคำร้องทุกข์ แต่เมื่อนางเหลืองยืนยันอย่างหนักแน่นว่านางสาวขาวมอบอำนาจให้ตนมาร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดี กับนายดำข้อหาข่มขืนกระทำชำเรา ที่ไม่ได้ทำหลักฐานกดารมอบอำนาจเป็นหนังสือเนื่องจากนางสาวขาวป่วยจนไม่อาจเคลื่อนไหวได้ พนักงานสอบสวนจึงรับคำร้องทุกข์โดยบันทึกเรื่องการมอบอำนาจด้วยวาจาและการร้องทุกข์ด้วย วาจาไว้พร้อมทั้งลงวันเดือนปีและลายมือชื่อพนักงานสอบสวนกับนางเหลือง ต่อมาพนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเสร็จและมีความเห็นควรสั่งฟ้องนายดำทุกคดี และพนักงานอัยการสั่งฟ้องนายดำข้อหากระทำชำเราเด็กหญิงแดงซึ่งอายุๆไม่เกิน ๑๕ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๗๗ ข้อหาพรากเด็กตามมาตรา ๓๑๗ คดีหนึ่ง และข้อหาข่มขืนกดระทำชำเรานางสาวขาวอีกคดีหนึ่ง
                ก. นางเขียวยื่นคำร้องว่าเป็นมารดาผู้มีอำนาจจัดการแทนเด็กหญิงแดงขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ กับพนักงานอัยการในความผิดฐานกระทำชำเราเด็ก และขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานพรากเด็ก นายดำขอให้ยกคำร้อง
                ข. นางเหลืองยื่นคำร้องว่า ตนได้รับมอบอำนาจจากนางสาวขาวด้วยวาจาให้มาขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการเนื่อง จากนางสาวขาวป่วยจนไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ นายดำขอให้ยกคำร้อง และนายดำยื่นคำร้องขอให้ศาลยกฟ้องในปัญหาข้อกฎหมายเนื่องจากการมอบอำนาจร้องทุกข์ไม่ได้ทำเป็นหนังสือการมอบอำนาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงถือว่าไม่มีการร้องทุกข์ในความผิดต่อส่วนตัว พนักงานอัยการไมม่มีอำนาจฟ้อง
ให้วินิจฉัยว่า ศาลจะมีคำสั่ง คำร้องของนางเขียวมารดาของเด็กหญิงแดง คำร้องของนางเหลืองมารดาของนางสาวขาว และคำร้องของนายดำจำเลย อย่างไร
คำตอบ ก.ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กนั้น เด็กผู้ถูกกระทำชำเราเป็นผู้เสียหาย เพราะเป็นการกระทำต่อเด็ก แม้กฎหมายจะคุ้มครองเด็กผู้ถูกกระทำชำเรา โดยไม่อาจถือว่าเด็กหญิงแดงเป็นผู้มีส่วนร่วมกระทำความผิดได้ แต่เมื่อเด็กหญิงแดงยินยอมให้นายดำกดระทำชำเรา เด็กหญิงแดงก็ไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยเพราะยังถือว่าเด็กหญิงแดงนั้นรู้เห็นเป็นใจให้นายดำกระทำผิด เมื่อเด็กหญิงแดงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย นางเขียวมารดาของเด็กหญิงแดงผู้จัดการแทนก็ไม่มีอำนาจจัดการแทนเด็กหญิงแดงในความผิดฐานกระทำชำเราเด็กได้
                ส่วนความผิดฐานพรากเด็ก เป็นความผิดฐานพรากเด็ก เป็นความผิดที่กระทำต่ออำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เมื่อนางเขียวมารดาของเด็กหญิงแดงซึ่งเป็นผู้เสียหายในความมผิดดังกล่าวมิได้รู้                            เห็นเป็นใจให้นายดำพรากเด็กหญิงแดง นางเขียวจึงเป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานพรากเด็ก ตามมาตรา ๒(๔)มีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อน ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นได้ตามมาตรา ๓๐
                ศาลจะสั่งอนุญาตให้นางเขียวเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานพรากเด็ก แต่ไม่อนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานกระทำชำเราเด็ก
                ข.การที่นางสาวขาวป่วยจนไม่อาจเคลื่อนไหวได้จึงมอบอำนาจด้วยวาจาให้นางเหลืองมา ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์นั้น แม้การฟ้องคดีอาญาหรือการยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์จะถือว่าไม่เป็นการดที่ต้องทำเองเฉพาะตัว สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นกระทำการแทนได้(คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๙๑/๒๕๐๓)แต่การมอบอำนาจให้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์เป็นการฟ้องคดีอาญา และการฟ้องคดีอาญาตามมาตรา ๑๕๘ ให้ทำเป็นหนังสือ การมอบอำนาจให้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์จึงต้องทำเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๙๘ เมื่อการมอบอำนาจให้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ไม่ได้ทำเป็นหนังสือ ดังนั้นการมอบอำนาจจึงไม่ชอบ ศาลต้องยกคำร้องของนางเหลือง
                ส่วนที่นายดำอ้างนั้น คำร้องทุกข์นี้จะทำเป็นหนังสือหรือร้องด้วยวาจาก็ได้ตามมาตรา ๑๒๓ วรรคสาม การมอบอำนาจให้ไปร้องทุกข์ด้วยวาจาจึงมิใช่กิจการที่ต้องทำเป็นหนังสือสามารถมอบอำนาจด้วยวาจาได้เช่นเดียวกัน เมื่อนางสาวขาวมอบอำนาจให้นางเหลืองไปร้องทุกข์ด้วยวาจา และนางเหลืองได้ร้องทุกข์ด้วยวาจา พนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์โดยบันทึกเรื่องการมอบอำนาจด้วยวาจาและการร้องทุกข์ด้วย วาจาไว้ พร้อมทั้งลงวันเดือนปีและลายมือชื่อพนักงานสอบสวนกับนางเหลือง การมอบอำนาจและการร้องทุกข์จึงชอบด้วยมาตรา ๑๒๓ วรรคสามแล้ว ข้ออ้างของนายดำฟังไม่ขึ้นศาลต้องยกคำร้องของนายดำ
ข้อสังเกตุ คำถามข้อ ข. หากเปลี่ยนข้อเท็จจริงเป็นนาง
สาวขาวอายุ ๑๙ ปี นางเหลืองจะเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนเพราะเป็นมารดาซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของนางสาว
ขาวผู้เยาว์ ตามมาตรา ๕ (๑)
                ความเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ จะมีผลถึงสิทธิในการยื่นคำร้องขอให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนทางแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๔๔/๑ เพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือจิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียง หรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย กล่าวคือกรณีที่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยจะมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนได้ ตามมาตรา ๔๔/๑ ต่าถ้าไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย ก็ไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา ๔๔/๑ เมื่อวินิจฉัยมาแล้วว่าเด็กหญิงแดงไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยในความผิดฐานกระทำชำเราเด็ก เด็กหญิงแดงจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา ๔๔/๑ ในคดีอาญา หากเด็กหญิงแดงยังต้องการค่าสินไหมทดแทน เด็กหญิงแดงหรือผู้แทนโดยชอบธรรมต้องไปใช้สิทธิฟ้องเป็นคดีในศาลส่วนแพ่ง โดยอ้างว่าความยินยอมของเด็กหญิงแดงเป็นความยินยอมของผู้เสียหายสำหรับการกระทำที่ต้อง ห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศิลธรรมอันดีของประชาชน นายดำจะนำมาอ้างเป็นเหตุยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดเพื่อละเมิดมิได้ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
                ส่วนนางเขียวมารดาของเด็กหญิงแดงมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องในคดีอาญา ขอให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา ๔๔/๑ ได้เฉพาะความผิดฐานพรากผู้เยาว์คือเด็กหญิงแดงเท่านั้น เพราะนางเขียวเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานนี้ ส่วนความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงแดงนั้น นางเขียวไม่มีสิทธิเพราะเด็กหญิงแดงผู้เสียหายไม่มีสิทธิ ผู้จัดการแทนจึงไม่มีสิทธิ

                นางสาวขาวมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา ๔๔/๑ จากความผิดฐานข่มขื่นกระทำชำเราเพราะเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย ส่วนการดำเนินการก็อาจต้องให้ญาติของนางสาวขาวยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้แทนเฉพาะคดีตาม มาตรา ๖ หรือดำเนินการยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้นางสาวขาวเป็นคนไร้ความสามารถ เมื่อมารดาเป็นผู้อนุบาล มารดาของนางสาวขาวก็มีอำนาจจัดการแทนตามมาตรา ๕(๑)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น