วันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ข้อ 8

ข้อ 8 คำถาม นายยอดยิงนายเยี่ยมถึงแก่ความตายในงานวัดแล้วขับรถหนีไป โดยมีชาวบ้านเห็นหลายคนรวมถึงน้องชายของนายเยี่ยมด้วย ระหว่างที่ขับรถหนีไปด้วยความเร็วสูงมากนั้น รถที่นายยอดขับเสียหลักไปชนนายแย่ซึ่งเดินอยู่ข้างทางได้รับอันตรายสาหัสต้องนอนอยู่โรงพยาบาลหลายเดือน โดยนายยอดหลบหนีไปกบดานที่จังหวัดอื่นหลายเดือน ต่อมานายยอดได้ให้เงินนางยิ้มมารดาของนายเยี่ยมจำนวน 200,000 บาท เพื่อยุติคดี และขอร้องให้นางยิ้มฟ้องคดีที่นายยอดฆ่านายเยี่ยม โดยรับปากว่าจะให้เงินเพิ่มอีก 500,000 บาท ถ้าศาลยกฟ้อง นางยิ้มจึงฟ้องนายยอดว่าฆ่านายเยี่ยมตายโดยเจตนา แล้วทนายความของนางยิ้มนำพยานเข้าไต่สวนเพียงปากเดียว คือ นางยิ้มซึ่งไม่เห็นเหตุการณ์ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง ต่อมานายยอดเข้ามอบตัวต่อเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อสู้คดี พนักงานอัยการสั่งฟ้องนายยอดข้อหาฆ่านายเยี่ยมตายโดยเจตนาคดีหนึ่ง และข้อหากระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้นายแย่ได้รับอันตรายสาหัสอีกคดีหนึ่ง นายยอดให้การปฏิเสธคดีฆ่านายเยี่ยมตายโดยเจตนาคดีหนึ่ง แต่ให้การรับสารภาพในคดีกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นายแย่ได้รับอันตรายสาหัส ซึ่งศาลลงโทษจำคุก 1 ปี ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัสหลังจากศาลตัดสินคดีแล้วนายแย่ถึงแก่ความตายเนื่องจากบาดแผลที่ถูกรถชน นางยุ่งมารดาของนายแย่จึงฟ้องนายยอดในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นายแย่ถึงแก่ความตาย ศาลไต่สวนมูลฟ้องและประทับฟ้องไว้พิจารณา ต่อมาศาลสืบพยานโจทก์จำเลยเสร็จทั้งสองคดี ข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายยอดกระทำผิดฐานฆ่านายเยี่ยมตายโดยเจตนา และนายยอดกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นายแย่ถึงแก่ความตาย
ให้วินิจฉัยว่า ศาลจะพิพากษาคดีสองเรื่องนี้อย่างไร
คำตอบ กรณีความผิดฐานฆ่านายเยี่ยมตายนั้น แม้นางยิ้มจะฟ้องนายยอดว่าฆ่านายเยี่ยมตายโดยเจตนา จนศาลพิพากษายกฟ้องแล้วก็ตาม แต่หลักการของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39 (4) ที่บัญญัติให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็จขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง อันเป็นหลักการห้ามดำเนินคดีซ้ำสองแก่จำเลยนั้น จะต้องปรากฏว่าคดีก่อนเป็นการฟ้องร้องดำเนินคดีอย่างสมยอมกัน แม้ว่าจะเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน ก็ถือไม่ได้ว่าการกระทำกรรมนั้นจำเลยเคยถูกฟ้องและศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็จขาด อันจะมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดกรรมนั้นระงับไปไม่ คดีนี้นางยิ้มฟ้องแล้วนำพยานเข้าไต่สวนเพียงปากเดียว คือ นางยิ้มซึ่งไม่เห็นเหตุการณ์ ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง ทั้งที่ขณะเกิดเหตุมีผู้เห็นเหตุการณ์หลายคนรวมถึงน้องชายของนายเยี่ยมด้วยทั้งนางยิ้มยังได้รับเงินค่ายุติคดีจากนายยอดด้วย คดีก่อนจึงเป็นการฟ้องร้องดำเนินคดีอย่างสมยอมกัน แม้ว่าจะเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน ก็ถือไม่ได้ว่าการกระทำกรรมนั้นนายยอดเคยถูกฟ้องและศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาด อันจะมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดกรรมนั้นระงับไปไม่ ศาลต้องพิพากษาว่านายยอดมีความผิดและลงโทษตากฎหมาย (คำพิพากษาฎีกาที่ 6446/2547)
                ส่วนความผิดฐานกระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้นายแย่ตายนั้น พนักงานอัยการเคยฟ้องนายยอดข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นายแย่ได้รับอันตรายสาหัส ศาลลงโทษจำคุก 1 ปี คดีนี้นางยุ่งฟ้องข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นายแย่ถึงแก่ความตายถือว่าได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็จขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้วสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ตามมาตรา 39 (4) แม้คดีเดิมพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นายแย่ได้รับอันตรายสาหัส ส่วนคดีนี้ฟ้องฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นายแย่ถึงแก่ความตาย แต่เป็นการกระทำผิดกรรมเดียวกันต้องห้ามมิให้ดำเนินคดีซ้ำสอง ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 3116/2525)
คำพิพากษาฎีกาที่ 6446/2547 หลักการของ ป.วิ.อ. มาตรา 39(4) ที่บัญญัติให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปเมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็จขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องอันเป็นหลักการห้ามดำเนินคดีซ้ำสองแก่จำเลยนั้นจะต้องปรากฏว่าคดีก่อนเป็นกรณีที่จำเลยถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอย่างแท้จริง หากปรากฏว่าคดีก่อนเป็นการฟ้องร้องดำเนินคดีอย่างสมยอมกัน แม้ว่าจะเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน ก็ถือไม่ได้ว่าการกระทำกรรมนั้นจำเลยเคยถูกฟ้องและศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็จขาด อันจะมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดกรรมนั้นระงับไปไม่
คำพิพากษาฎีกาที่ 3116/2525 โจทก์เคยฟ้องจำเลยฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยและคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ แม้ต่อมาผู้เสียหายถึงแก่ความตายเพราะบาดแผลที่ถูกจำเลยทำร้าย โจทก์จะฟ้องจำเลยฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาซึ่งเป็นการกระทำผิดกรรมเดียวกันในขณะที่คดีก่อนอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ไม่ได้ เพราะถือว่าได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้วต้องห้ามตาม ป.วิ.อ.มาตรา 39 (4)
ข้อสังเกต คดีนี้หากผู้เสียหายตายก่อนศาลพิพากษา โจทก์มีทางออกคือขอแก้ฟ้อง จากเดิมความผิดตาม ป.อ.มาตรา 295 เป็นมาตรา 290 ถือว่าเป็นกรณีมีเหตุอันควรแก้ฟ้องได้ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1746/2535 แต่ถ้าตายหลังจากศาลพิพากษาคงต้องเป็นไปตามคำพิพากษาฎีกาที่ตั้งข้อสังเกตนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น