วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ผู้เสียหาย ผู้มีอำนาจจัดการแทน 4

ข้อ ๔ คำถาม นายเอกอยู่กินกับนางโทโดยมิได้จดทะเบียนสมรสมีบุตรด้วยกันหนึ่งคน คือนายตรีอายุ ๑๗ ปี คืนหนึ่งนายตรีไปเที่ยวปีใหม่นายตรีพบนายดำซึ่งเป็นคู่อริ นายดำใช้ไม้ตีขานายตรีได้รับอันตรายแก่กายแล้วหลบหนีไป ต่อมาขณะที่กำลังเดินทางกลับบ้านโดยใช้ไม้ที่เก็บได้ข้างทางพยุงร่างกาย นายตรีพบนายแดงคู่อริเก่าอีกคนหนึ่ง นายแดงใช้ไม้ตีนายตรีจนศีรษะแตกแล้วสลบไปต้องนอนให้น้ำเกลือและใส่สายช่วยหายใจตลอดเวลาหลายเดือนเนื่องจากถูกตีที่ศีรษะ ต่อมานางโทเสียใจที่บุตรบาดเจ็บจนนางโทถึงแก่ความตาย พนักงานอัยการฟ้องนายดำในข้อหาทำร้ายร่างกายนายตรีเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย และนายแดงข้อหาทำร้ายร่างกายนายตรีเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส
                ให้วินิจฉัยว่า นายเอกจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายแดงและนายดำเป็นจำเลยได้หรือไม่
คำตอบ กรณีการจัดการแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๕ (๑) นั้น นายตรีผู้เสียหายอายุ ๑๗ ปี เป็นบุตรของนายเอกและนางโท แต่นายเอกและนางโทไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน นายเอกไม่ใช่ผู้ใช้อำนาจปกครองและไม่ใช่ผู้แทนโดยชอบธรรมที่มีอำนาจจัดการแทนนายตรีผู้เสียหาย เพราะนายตรีมิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเอก นายเอกจึงไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตามมาตรา ๕(๑) ทั้งในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายดำและนายแดงเป็นจำเลย (คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๓๐๖/๒๕๔๕)
                กรณีการจัดการแทนตามมาตรา ๕ (๒) นั้น นายตรีสลบไปต้องนอนให้น้ำเกลือและใส่สายช่วยหายใจตลอดเวลาหลายเดือนเนื่องจากการถูกนายแดงตีศีรษะ นายเอกในฐานะผู้บุพการีของนายตรีผู้เสียหาย มีอำนาจจัดการแทนนายตรีที่ถูกทำร้ายบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ เพราะผู้มีอำนาจจัดการแทนตามมาตรา ๕(๒) กฎหมายใช้คำว่าผู้บุพการีจึงมีความหมายถึงผู้บุพการีความเป็นจริงตามสายโลหิต นายเอกจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีที่พนักงานอัยการฟ้องนายแดงเป็นจำเลยได้ตามมาตรา ๕(๒) (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๓๘๔/๒๕๑๖) ประชุมใหญ่
                 ส่วนนายดำเพียงแต่ใช้ไม้ตีขานายตรีได้รับอันตรายแก่กายแล้วหลบหนีไปเท่านั้น บาดแผลที่เป็นเหตุให้นายตรีบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ มิได้เกิดจากกการกระทำของนายดำ จึงมิใช่กรณีที่นายตรีถูกนายดำทำร้ายบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ นายเอกซึ่งเป็นผู้บุพการีจึงไม่มีอำนาจจัดการแทนนายตรีและมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องนายดำเป็นจำเลยตามมาตรา ๕(๒) (คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๘๗๙/๒๕๔๖)
คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๓๐๖/๒๕๔๕ ผู้เสียหายอายุ ๑๗ ปีเศษเป็นบุตรของโจทก์ร่วมกับ ส. แต่โจทก์ร่วมกับส.มิได้จดทะเบียนสมรสกัน ผู้เสียหายจึงไม่ใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ร่วม เมื่อไม่ปรากฏว่า โจทก์ร่วมได้จดทะเบียนว่าผู้เสียหายเป็นบุตร โจทก์ร่วมจึงมิใช่ผู้ใช้อำนาจปกครองและมิใช่ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เสียหายที่จะมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายตามป.วิ.อ.มาตรา ๕ (๑) จึงไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานัยการและไม่มีฐานะเป็นโจทก์ที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาได้
คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๘๗๙/๒๕๔๖ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๐ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๕ ที่โจทก์ร่วมอุทธรณ์ข้อแรกว่า การที่จำเลยเตะบริเวณแก้มของผู้ตายเป็นการเล็งเห็นผลว่าจะเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายนั้นศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า อุทธรณ์ดังกล่าวเป็นอุทธรณ์ในข้อหาที่โจทก์ไม่ได้กล่าวมาในคำฟ้องและเป็นข้อหาที่โจทก์ไม่ได้ประสงค์ให้ลงโทษศาลจะลงโทษจำเลยในข้อหาดังกล่าวไม่ได้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคหนึ่ง ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยเพียงแต่ใช้กำลังทำร้ายและต่อยผู้ตายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายส่วนบาดแผลที่เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายมิได้เกิดจากการกระทำของจำเลยจึงมิใช่กรณีที่ผู้ตายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้โจทก์ร่วมซึ่งเป็นบุพการีจึงมี่อำนาจจัดการแทนผู้ตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๕(๒) และโจทก์ร่วมไม่มีสิทธิอุทธรณ์ข้อที่สองที่ว่า จำเลยทำร้ายผู้ตายโดยกระทำทารุณโหดร้าย และอุทธรณ์ข้อที่สามที่ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานทำร้ายผู้ตายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายในสถานหนังที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อที่สองและข้อที่สามของโจทก์ร่วมจึงไม่ชอบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น