วันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ผู้เสียหาย ผู้มีอำนาจจัดการแทน 3

ข้อ ๓ คำถาม  เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๘ นายสมเดชสั่งจ่ายเช็คผู้ถือลงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๘ โดยรู้ว่าไม่มีเงินในบัญชี เพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าให้แก่นายวิชัย ต่อมาวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๘ นายวิชัยสลักหลังโอนเช็คชำระหนี้ค่าสินค้าให้แก่นางแดง นางแดงนำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเหมื่อดวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๘ ต่อมาเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๘ นางแดงได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีนายสมเดชหลังจากร้องทุกข์แล้ว ขณะที่ขับรถกลับบ้านนางแดงขับรถด้วยความเร็วสูงมากทั้งที่เป็นแหล่งชุมชน เป็นเหตุให้ชนกับรถที่นางสมทรงขับออกมาจากซอยโดยไม่ระมัดระวัง เป็นเหตุให้นางแดงถึงแก่ความตายทันที
                ให้วินิจฉัยว่า ก.นางแดงมีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานนสอบสวนให้ดำเนินคดี นายสมเดชได้หรือไม่
                ข. นางดำบุตรของนางแดงจะเป็นโจทก์ฟ้องนายสมเดชตาม พ.ร.บ.เช็คฯ และฟ้องนายสมทรงฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นางแดงถึงแก่ความตายได้หรือไม่
คำตอบ  ก.นายวิชัยสลักหลังโอนเช็คชำระหนี้ค่าสินค้าให้แก่นางแดง นางแดงเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดของนายสมเดช ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญามาตรา ๒(๔) เพราะเช็คพิพาทเป็นเช็คผู้ถือซึ่งย่อมโอนให้แก่กันได้ด้วยการส่งมอบ นางแดงเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายในขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน นางแดงจึงเป็นผู้เสียหายโดยตรงที่มีอำนาจร้อองทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับ นายสมเดชได้ (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๗๑๕๘/๒๕๔๖)
ข.ความผิดตามพ.ร.บ.เช็คฯ  นั้น นางแดงถึงแก่ความตายเพราะขับรถชนกับนางสมทรง มิได้ถูกนายสมเดชทำร้ายถึงตายตามมาตรา ๕ (๒) นายดำจึงไม่มีอำนาจจัดการแทนนางแดงผู้เสียหายได้ แม้นางแดงจะร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแต่นางแดงก็ยังไม่ได้ฟ้องคดี ก็มิใช่กรณีที่ผู้เสียหายยื่นฟ้องแล้วตายลงที่นางดำผู้สืบสันดานจะดดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปได้ตามมาตรา ๒๙ นางดำจึงฟ้องขอให้ศาลลงโทษนายสมเดชตาม พ.ร.บ.เช็คฯ ไม่ได้ (เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ ๕๑๖๒/๒๕๔๗)
                ความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นางแดงถึงแก่ความตายนั้น แม้นางสมทรงขับรถออกมาจากซอยโดยไม่ระมัดระวังซึ่งเป็นการกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้นางแดงถึงแก่ความตายแต่การที่นางแดงขับรถด้วยความเร็วสูงมากทั้งที่เป็นแหล่งชุมชนนางดำซึ่งเป็นผู้สืบสันดานของนางแดงไม่มีอำนาจจัดการแทนนางแดงผู้ตายตามมาตรา ๕ (๒) เนื่องจากเหตุรถชนกันเกิดขึ้นก็เพราะนางแดงมีส่วนกระทำโดยประมาท นางแดงจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย นางดำจึงฟ้องขอให้ศาลลงโทษนางสมทรงฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นางแดงถึงแก่ความตายไม่ได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๑๒๘/๒๕๔๗)
คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๑๕๘/๒๕๔๖ ธ.โอนสิทธิความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเช็คพิพาทให้แก่ ส.แล้ว กอรปกับเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายในขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน และนับเป็นผู้เสียหายที่แท้จริง เมื่อ ธ. เป็นผู้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีแก่จำเลยการร้องทุกข์ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๑๖๒/๒๕๔๗  ว.บิดาโจทก์เป็นผู้ถูกจำเลยหลอกลวงเอาทรัพย์ของ ว. ไป ว.จึงเป็นผู้เสียหายโดยตรงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๕ (๒) โจทก์จึงไม่มีอำนาจจัดการแทน ว. ได้ การที่ ว.ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนยังไม่ได้ฟ้องคดี ก็ไม่ต้องด้วยมาตรา ๒๙ ที่โจทก์จะดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
หมายเหตุ ความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ ผู้ถูกหลอกลวงกับผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์ที่ถูกฉ้อโกง ต่างเป็นผู้เสียหายโดยตรงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒ (๔)
                ผู้ที่เป็นผู้เสียหายย่อมมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาตามมาตรา ๒๘(๒) เป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการตามมาตรา ๓๐ ยอมความในคดีความผิดต่อส่วนตัวตามมาตรา๓๕ วรรคสอง ร้องทุกข์ตามมาตรา ๑๒๓ ได้ ในกรณีที่ผู้เสียหายตาย ถ้าเป็นกรณีถูกทำร้ายถึงตาย ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาของผู้เสียหายมีอำนาจจัดการแทนได้ตามมาตรา ๕(๒) และมีอำนาจตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๓ ถ้าไม่ใช่เป็นกรณีตามมาตรา ๕ (๒) กล่าวคือผู้เสียหายไม่ได้ถูกทำร้ายถึงตาย แต่ถูกกระทำความผิดฐานอื่นไม่ว่าเป็นความผิดอาญาที่ทำต่อทรัพย์สินของผู้เสียหายหรือไม่ก็ตามต่อมาผู้เสียหายถึงแก่กรรม ทายาทของผู้เสียหายก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นผู้เสียหายมีอำนาจดังกล่าวได้ เพราะเป็นสิทธิเฉพาะตัวไม่เป็นมรดกตกแก่ทายาท (คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๒๑๙/๒๕๒๑,๓๓๙๕/๒๕๒๕) คงมีแต่ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๒๖ เท่านั้นที่ผู้เสียหายตายเสียก่อนร้องทุกข์ก็ให้บิดา มารดา คู่สมรสหรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหายตามมาตรา ๓๓๓
                กรณีที่การตายของผู้เสียหายเกิดขึ้นภายหลังจากที่ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒๙ ให้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปก็ได้โดยมาตรา ๒๙ ให้บุคคลดังกล่าวดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปเท่านั้นไม่ได้ถือว่าเป็นผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องได้เองเป็นต่างหาก
                แต่กรณีที่ผู้เสียหายร้องทุกข์แล้วตายลงก่อนยื่นฟ้องคดีต่อศาลไม่ต้องด้วยมาตรา ๒๙ และไม่มีบทบัญญัติที่ให้ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไป หรือไปฟ้องคดีอาญาได้เองตามมาตรา ๒๘ (๒) จึงไม่มีผู้ใดดำเนินคดีต่อไปได้นอกจากพนักงานอัยการจะเป็นผู้ฟ้องคดีตามมาตรา ๒๘(๑)
                คดีนี้ ว.เป็นเจ้าของทรัพย์และถูกจำเลยหลอกลวง ว.จึงเป็นผู้เสียหายโดยตรงในความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒(๔) ว.ร้องทุกข์แล้วตายลงก่อนฟ้อง โจทก์จึงเป็นทายาทของ ว.มิใช่ผู้เสียหายโดยตรงจึงไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา ๒๘ (๒) คงได้แต่รอให้มีการสอบสวนและพนักงานอัยการเป็นผู้ยื่นฟ้องตามมาตรา ๒๘(๑) เท่านั้น
คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๑๒๘/๒๕๔๗  แม้จำเลยจะขับรถจักรยานยนต์โดยประมาท ชนรถจักรยานยนต์ของผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายตกจากรถ ศีรษะฟาดพื้นและถึงแก่ความตาย แต่เหตุรถชนกันเกิดขึ้นเพราะผู้ตายซึ่งเป็นภริยาโจทก์ร่วมมีส่วนกระทำโดยประมาท ผู้ตายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ร่วมซึ่งเป็นสามีย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายตาม ป.วิ.อ.มาตรา ๕(๒) จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในความผิดฐานดังกล่าวและไม่มีสิทธิอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษการที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมในข้อนี้และพิพากษาจำคุกจำเลยมาจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา ๒๒๕ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น